นิเทศศิลป์&นิเทศศาสตร์ - นิเทศศิลป์&นิเทศศาสตร์ นิยาย นิเทศศิลป์&นิเทศศาสตร์ : Dek-D.com - Writer

    นิเทศศิลป์&นิเทศศาสตร์

    ใครอยากเรียนนิเทศเชิญทางนี้

    ผู้เข้าชมรวม

    3,005

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    3K

    ความคิดเห็น


    3

    คนติดตาม


    3
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  7 ต.ค. 51 / 13:50 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    บางคนสงสัยว่าเรียนนิเทศฯจบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง บทความนี้อาจช่วยคุณได้

    เครดิต:http://my.dek-d.com/ubyi/story/view.php?id=126602
    http://www.eduzones.com/knowledge-2-7-28501.html

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ปฐมลิขิต : บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เยี่ยมชมส่งเข้ามาทาง ubyi@dek-d.com

      เจ้าของบทความ : พี่ยอด ( piyawat_n@hotmail.com )

      -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

      นิเทศศิลป์

      แนะแนวสาขาวิชา นิเทศศิลป์ ออกแบบสื่อสาร นฤมิตศิลป์(สาขากราฟฟิค) และสาขาการออกแบบ

             น้องๆอาจสงสัยว่า คณะเหล่านี้เค้าจบไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง  จำเป็นไหมต้องวาดรูปทั้งวัน ฐานเงินเดือนโอเคหรือไม่ การเรียนเป็นยังไง  การเตรียมตัวสอบเข้าจะต้องทำอย่างไรบ้าง  มีมหาวิทยาลัยที่ไหนบ้างที่เปิดสอนทางด้านนี้

      ==========================================================================

      นิเทศศาสตร์นิเทศศิลป์และสารพัดศิลป์

             ปัญหาสำคัญด่านแรกคือ มักจะมีน้องๆสับสนกับ "คณะนิเทศศาสตร์" กับคำว่า "นิเทศศิลป์"  ซึ่งสองคณะนี้แม้จะมี Concept พื้นฐานที่ใช้ ความครีเอทีฟเหมือนๆกัน  แต่โดยแท้จริงลึกๆแล้วการเรียนการสอนและการสอบเข้าต่างกันเพราะต่างคนก็ต่าง expert ไปคนละด้าน แต่ก็จัดว่าลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันครับ

      ดังนั้นพี่ก็คิดว่าเรามาเริ่มกันที่คำศัพท์-คำเรียกชื่อของคณะนี้ก่อนจะดีกว่า เพื่อความไม่สับสนและเข้าใจตรงกัน

             - นิเทศศิลป์ (Communication Design) ก็มีคณะและมหาวิทยาลัยที่ใช้คำเรียกนี้คือ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร /  คณะสถาปัตย์ ลาดกระบัง และบางมด (สอบแบบศิลป์) / และคณะศิลปกรรมศาสตร์ บูรพา ขอนแก่น  และเอกชนอย่าง  ม.กรุงเทพ และม.รังสิต เป็นต้น)

             - ออกแบบสื่อสาร (Communication Design) ก็มีคณะและมหาวิทยาลัยที่ใช้คำเรียกนี้คือ มศว ประสานมิตร
      คณะศิลปกรรมศาสตร์ครับ


            
      - เรขศิลป์ (Graphic Design) ก็มีคณะและมหาวิทยาลัยที่ใช้คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือคณะศิลปกรรมศาสตร์  ภาควิชานฤมิตศิลป์ สาขาวิชาเรขศิลป์ และนฤมิตศิลป์ของ ม.มหาสารคาม

       
            - สาขาออกแบบ ก็เป็นชื่อสั้นๆง่ายๆได้ใจความของคณะวิจิตรศิลป์สาขาการออกแบบที่ ม.เชียงใหม่

      เหล่านี้มีระบบการรับและวิชาสอบที่ต่างกัน ซึ่งพี่ก็จะขอเก็บไว้เล่าในตอนท้าย

      ==========================================================================

      การเรียนการสอน

             พี่ขอตัดเข้าไปตอนเรียนในมหาวิทยาลัยก่อนละกันนะ ในคณะต่างๆเหล่านี้เค้าก็จะมีการเรียนการสอนที่
      ค่อนข้างคล้ายกัน คือในช่วงปีสองปีแรกก็จะเป็นการเรียนฝึกฝนทักษะ วิชาดรออิ้งก็จะวาดกันตั้งแต่วัตถุสิ่งของ
      ใกล้ตัวจนไปถึงวิชากายวิภาค มีเรียนจิตรกรรมพื้นฐาน การ Paint สีน้ำ ได้ออกนอกสถานที่ ไปวาดที่ต่างๆ
      ได้ฝึกฝนทักษะการออกแบบทั้งด้วยมือ และด้วยคอมพิวเตอร์ในขั้นพื้นฐาน ในปีต้นๆก็มีกิจกรรมเยอะ งานเยอะ มีรับน้อง และเป็นช่วงเปลี่ยนจากวัยมัธยมที่มีคุณครูคอยจู้จี้มาเป็นวัยเรียนที่อิสระ ไม่มีใครควบคุม ดังนั้นปีต้นๆ น้องควรจะ Balance ระหว่างกิจกรรมกับการเรียนให้ดี เกรดจึงจะออกมาสวยและใช้ชีวิตมหาลัยอย่างมีความสุข

             ส่วนในปีโตๆคือปีสามและปีสี่ก็จะเริ่มมีวิชาเฉพาะสาขาที่ตนเองสนใจ คือบางที่ก็มีวิชาอนิเมชั่น (animation) หรือวิชาโฆษณา (advertising) หรือพวกการออกแบบตัวอักษรขั้นสูง (advance typography) จากนั้นพอปลายปีสามขึ้นปีสี่  ก็จะมีวิชาวิจัยทางศิลปะและการออกแบบ (design research)ซึ่งก็จะได้ใช้ประโยชน์ตอนทำวิทยานิพนธ์ทางศิลปะ หรือที่เรียกว่า Thesis นั่นเอง ช่วงนี้ก็จะเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิตในระดับนึงเหมือนกันว่าจะเรียนจบหรือไม่จบ
      หรือจะได้งานที่ดีหรือเปล่า

             ส่วนวิชาคำนวณ ไม่มีครับ หรือบางที่มีก็น้อยมาก ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนเหมือนตอนมัธยมครับ (โดยมากไม่ชอบ)

      ==========================================================================

      ระดับความยากในการเรียน

             ขึ้นชื่อว่าเรียนก็ยากทั้งนั้นแหละ แต่การันตีว่าใครชอบออกแบบจริงๆแล้วคณะแบบนี้เป็นคณะที่เรียนสนุก  จริงอยู่ การเรียนวิชาพวกนี้ระดับความเครียดมักจะไม่ค่อยมากเท่ากับสายวิทยาศาสตร์หรือสายคำนวณ  แต่การเรียนวิชานี้จะต้องหมั่นหาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เนต หรือร้านหนังสือต่างประเทศ หรืองานนิทรรศการหรือ event ต่างๆ เช่นงานประกวดโฆษณา หรืองานออกแบบระดับมหาวิทยาลัย  ไม่เช่นนั้นเราจะตามคนอื่นไม่ทัน

             อย่างที่บอกไป แม้ว่าพวกเราจะไม่ได้เรียนเครียด ไม่ได้เรียนแล้วหน้าบูดหน้าบึ้ง และดูเหมือนว่าจะอยู่กับสิ่งที่สวยงามก็ตาม แต่เมื่อไหร่ที่เราหยุดคิด หยุดตามโลก หยุดหาความรู้ เราก็จะอยู่ไม่ได้เมื่อเราจบไปประกอบอาชีพแล้ว และความเครียดก็จะเพิ่มมากขึ้น

             พวกเราตอนเรียนจะเรียนสนุก แต่เมื่อจบไปทำงาน จะต้องรักษาเวลา ทำงานให้ทัน คิดให้ออกในเวลาที่กำหนด
      เราก็จะไปเครียดกันก็ตอนนั้นแหละ

             ต้องยอมรับอยู่ข้อนึงว่าประเทศไทย ระดับการเคารพในวิชาชีพยังไม่มีมากเท่าที่ควร  คนที่ไม่ได้จบทาง
      ด้านออกแบบมาโดยตรงก็สามารถทำงานทางด้านนี้ได้ ถ้าเค้ามีความสามารถเพียงพอ (ส่วนมาก-ไม่ดีเท่าคนที่จบตรง)
      ดังนั้นอาชีพทางสายนี้ จึงจำเป็นต้องจบไปแล้วไปอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่เหมาะสม ถึงจะเติบโตทางหน้าที่การงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งพี่ก็จะแนะนำในข้างล่างต่อไปนะครับ ว่าทำที่ไหนถึงจะดี

      ==========================================================================

      อาชีพการงาน

             ก่อนที่พี่จะพูดเรื่องการเตรียมตัวสอบ พี่คิดว่าการทำความรู้จักกับสาขาที่เรากำลังจะเรียนเป็นสิ่งที่ควรรู้ก่อน ดังนั้นพี่ก็จะเล่าหน้าที่การงานให้ฟังว่า จบไปสามารถทำอะไรได้บ้าง

             อาชีพของพวกเราคล้ายๆกับว่าปิดทองหลังพระ และดูเหมือนว่าจะมีรากฐานฝังลึกอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีช่วงอายุประมาณ 45-60 ว่า พวกเราเป็นศิลปินใส้แห้ง วันๆวาดรูปและรับเขียนป้าย ทำงานโรงพิมพ์  ดังนั้นพี่ก็จะขอเล่าให้ฟังละกัน จะได้ไปอธิบายให้อาก๋งอาม่า หรือป่าป๊าหม่าม๊าเข้าใจได้มากขึ้นว่า เราจะจบไปทำอะไรได้บ้างใส้แห้งจริงหรือไม่

             จากประสบการณ์การทำงานของพี่ อาชีพการงานของสายนี้จะแยกออกเป็น 3 สายหลักๆ คือ จริงๆแล้วคนอื่นอาจจะไม่ได้แบ่งแบบนี้

             1. สาย Creative เน้นคิดงาน และสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ สนุกๆมันส์ๆ
             2. สาย Production เน้นทำงานผลิตงาน เป็นผู้มีฝีมือและทักษะการ Present เป็นเยี่ยม หาตัวจับยากและมีคิวจองให้ทำ จองยาวข้ามปี
             3. สาย IT และมัลติมีเดีย

      ==========================================================================

      อ่ะมาเริ่มกันที่ครีเอทีฟ (Creative) กันก่อนนะ

             สายนี้ก็โดยมากจะอยู่ตามเอเยนซี่โฆษณา (Advertising Agency) ซึ่งการที่จะเข้าเป็นครีเอทีฟในบริษัทโฆษณานั้นค่อนข้างยาก  และต้องผ่านการคัดตัวและเวทีประกวดงานระดับมหาวิทยาลัยอย่าง B.A.D (Bangkok Advertising Association) มาบ้างแล้ว หรือไม่ก็เป็นผู้มีไอเดียแหวกแนวตลอดเวลา  ในเอเยนซี่ก็จะแยกออกครีเอทีฟออกเป็นสองประเภทคือ

                - อาร์ตไดเรกเตอร์ (art director)เป็นอาชีพที่จัดว่า เก๋ไก๋สไลด์เดอร์มากๆ มีคนอยากเป็นมากแต่ตำแหน่งน้อยนิดไม่ค่อยจะรับใครใหม่ๆเท่าไหร่ เพราะเงินเดือนดี แต่ทำงานหนักเป็นวัวเป็นควายบางทีก็กลับบ้านตีสองตีสาม หรือข้ามคืนก็เคยมี อาร์ตไดเรกเตอร์เค้าจะทำงานเป็นคนคิดโฆษณาทางสิ่งพิมพ์ ทำบิลบอร์ดเก๋ๆ ยกตัวอย่างเช่นเบียร์ไฮเนเก้นที่จะมีอะไรเก๋ๆออกมาตลอดเวลาและที่เป็นไฮไลท์คือต้องคิดหนังโฆษณาทีวี (TVC) ช่วงเวลาที่คิดหนังนี่แหละมันส์ที่สุด จะมีแก๊กตลกๆ เจ็บๆซึ้งๆออกมาเยอะแยะแล้วแต่โจทย์ที่ลูกค้าให้มา อาร์ตไดไม่ได้เป็นคนคิดคนเดียวนะ  เค้าจะต้องคิดงานคู่กับก๊อปป้ไรท์เตอร์(copywriter) ที่จบมาทางสายนิเทศศาสตร์นั่นแหละ ทำงานคู่กันเสมอๆ แยกกันไม่ออก

                    อาร์ตไดจะต้องออกไปกับกองถ่ายฯ จะต้องคุยกับผู้กำกับเพื่อแลกไอเดียอันบรรเจิด และคุยกะช่างภาพมือฉกาจเพื่อทำให้งานออกมาดี อาร์ตไดจะต้องควบคุมทุกๆอย่างเพื่อให้งานชิ้นนึงออกมาได้ดีและสมบูรณ์ที่สุดเหมือนกับที่ไปโม้ไว้กับลูกค้าในวันขาย Sketch งานครั้งแรก

                    ที่สำคัญคืออาร์ตได จะมีการอัพค่าตัวขึ้นไปได้อีกจากการหมั่นคิดงานดีๆส่งประกวด ซึ่งเวทีสำหรับคนโฆษณาก็มี B.A.D Awards (Bangkok Advertising Association) หรือ Adman หรือเวทีเก่าแบบ TACT Awards และเวทีระดับเอเชียที่มีการจัดกันที่พัทยาทุกปีอย่าง AD FEST Asia หรืองานใหญ่แถบภูมิภาคแบบ Media Asian หรืองานระดับโลกอย่าง Cannes Lions หรือฝั่ง U.K คือ D&AD หรือฝั่งอเมริกาแบบ CILO Awards เป็นต้น

                การเตรียมตัวเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์

                    ก็ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบติดตามข่าวสารวงการออกแบบและโฆษณา ชอบดูโฆษณา
      และต้องหมั่นประกวดงานเพื่อพัฒนาความคิด และสะสม portfolio ที่ดีๆไว้ตอนสมัครงานและที่สำคัญช่วงฝึกงานพยายยามหาทางเข้าไปฝึกในเอเยนซี่ให้ได้

             - กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ (Graphic Designer)  เป็นอาชีพที่ยังสามารถแยกออกเป็นหลายหมวดอีกในที่นี้พี่จะขอแยกออกเป็นสองอย่างละกันครับ คือ graphic ที่ทำงานอยู่ในบริษัทโฆษณา และ graphic ที่ทำงานอยู่ตาม graphic house จะพูดถึงพวกแรก พวกนี้จะทำงานคล้ายกับอาร์ตได แต่จะกระจุกกระจิกและต้องทำพวก product หรือ package ด้วยเป็นบางครั้ง ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบนึง  ลักษณะของกราฟฟิคจะคล้ายับอาร์ตไดแต่จะต่างกันตรงที่ไม่ต้องคิดหนังทำหนังแต่พวกนี้จะลงลึกไปออกแบบสื่อต่างๆเช่นงาน exhibits หรืองานสิ่งพิมพ์ หรือเวบมัลติมีเดียสำหรับกราฟฟิคโดยเฉพาะบริษัทโฆษณาต้องออกไปนอกสถานที่บ่อยๆ ออกไปหาลูกค้า  ออกไปกำกับช่างภาพ ออกไปทำรีทัชภาพ และสุดท้ายควบคุมการออก Artwork ให้ลูกค้า  ซึ่งสนุกมากๆ ทำให้เราไม่หยุดนิ่ง ได้เจอคน ได้เจออะไรใหม่ๆตลอดเวลา

                สำหรับการเตรียมตัวเป็นกราฟฟิค
                    ขึ้นอยู่กับเว่าเราจะสมัครในบริษัทโฆษณาหรือเปล่า ถ้าอยากก็ต้องดูให้ดีเพราะบริษัทโฆษณาบางที่ก็มีโครงสร้างให้กราฟฟิคทำงาน support art director ซึ่งพี่ไม่แนะนำให้ทำบริษัทแบบนี้ ลองหาบริษัทที่มี Graphic ที่แยกทีมออกมาต่างหากจะดีกว่าหรือถ้าเราอยากเข้ากราฟฟิคเฮาส์ก็ลองศึกษาว่าบริษัทที่เราจะเข้านี่มีชื่อเสียงในวงการออกแบบหรือเปล่า ของประเทศไทยก็มีที่ดีๆน่าทำอยู่หลายที่เหมือนกันครับ

      ==========================================================================

      ทีนี้พี่ก็จะพูดถึงสาย Production House บ้าง

             สายโปรดักชั่นนี้โดยมาก็จะทำงานให้กับเอเยนซี่ (Agency) เสียส่วนมาก โปรดักชั่นนี้ก็ยังแยกออกได้ย่อยๆอีกคือ
                    Image Retoucher / Photographer (ตกแต่งภาพและช่างภาพ)
                    Editing Studio (สตูดิโอตัดต่อ)
                    Animation Studio (สตูดิโอทำอนิเมชั่น)
                    Illustrator Artist (นักเขียนและออกแบบภาพประกอบเรื่อง)
             ตอนนี้ฟังดูอาจจะยังงงๆเอาเป็นว่าสาขาที่ย่อยมากๆพี่ขอข้ามไปก่อนละกันครับ เดี๋ยวจะยาว

            ทีนี้ก็มาถึงตำแหน่งหน้าที่การงานว่าจะทำอะไรได้บ้างในสายงานทางด้านโปรดักต์ชั่นเฮาส์

            - Computer Artist ที่ทำงานกับบริษัทรีทัชภาพ  ขอเล่าก่อนละกันครับว่ารีทัชภาพนี่ไม่ใช่แค่ตกแต่งภาพตามร้านถ่ายรูปนะครับ มันไม่ใช่แค่นั้น งานของบริษัทโฆษณาที่ออกเป็นอาร์ตเวิร์คในแต่ละวันนั้นมหาศาล การที่จะต้องมีคนที่ทำหน้าที่นี่หรือเรียกว่า รีทัชเชอร์(Retoucher) ซึ่งรีทัชเชอร์จะทำหน้าทีตกแต่งภาพตามที่อาร์ไดเรกเตอร์ หรือกราฟฟิคทำมาให้ ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างง่ายๆก็คือ พวกโปสเตอร์หนัง หรืองานโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ งานพวกนี้ไม่ใช่มีค่าตอบแทนน้อยๆนะครับ  เพราะคนที่จะทำงานทางด้านนี้ได้จะต้องมีผู้มีความรู้ทางด้าน Drawing มากพอสมควรจึงจะสามารถตกแต่งภาพออกมาได้อย่างสมจริง สายงานทางด้านนี้กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ มีงานจากต่างประเทศเข้ามาให้ทำเป็นจำนวนมาก  น้องคงจะงง ว่างานแต่งภาพมันจะมากอะไรขนาดนั้น แต่พี่ขอบบอกว่ามากๆๆๆๆ  ครับ เพราะปัจจุบันการถ่ายภาพ  งานโฆษณาได้เปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิตอลหมดแล้วครับ ดังนั้นงานถ่ายภาพเมื่อถ่ายเสร็จเค้าก็จะต้องไปทำให้สวยที่สุด  ดังนั้นก็ไม่พ้นพวก Retouch House ปัจจุบันในประเทศไทยที่ดังๆมีอยู่ประมาณเกือบ 10 ที่ มีสตูดิโอถ่ายภาพมีพนักงานมากกว่า 50 คนในบางแห่ง  การจะเตรียมตัวเป็นรีทัชเชอร์จะต้องดรออิ้งเก่งมีพื้นฐานแสงเงาแน่น มีความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิคและหมั่นดูงานโฆษณา  ดูโปสเตอร์หนังและเป็นผู้ตามกระแสวงการออกแบบตลอดเวลาครับ

             - Computer Artist ที่ทำงานกับเอเยนซี่  อันนี้ก็จะคล้ายๆกับอันข้างบน เพียงแต่ว่าทำงานในบริษัทโฆษณา
      โดยมากจะไม่ได้ปิดงานใหญ่ๆเอง แต่จะให้พวกด้านบนทำจะเป็นคนที่คอย Support ความคิดของครีเอทีฟ และต้องมีความรู้ทางด้านการจัดวางหนังสือ และการเขียนภาพด้วยโปรแกรม Illustrator ด้วยนอกเหนือจากการแต่งภาพ ในบางครั้งต้องมีการทำภาพสามมิติด้วย เรียกว่าความรู้เฉพาะโปรแกรมและทักษะอาจจะไม่เท่ากับพวกรีทัชเชอร์ แต่ความรู้รอบตัวต้องมากกว่าและสามารถตอบสนองความคิดของครีเอทีฟได้มากกว่า  สำหรับการเตรียมตัวก็เหมือนข้างบนนะครับ

             - Animator / CG Artist คงเป็นอาชีพที่น้องๆหลายคนอยากจะทำนะครับ การจะเป็น animator อาจจะไม่ต้องจบมาตรงสายเสียทีเดียว แต่อาจจะต้องมีความสนใจทางด้านโปรแกรม 3 มิติ (3D) พอสมควร โดยมากรุ่นเก่าจะจบมาทางสายทางด้านนี้แล้วอาศัยความสนใจส่วนตัวไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ปัจจุบันในประเทศก็มีการเรียนการสอนทางด้านนี้ เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยของรัฐอาจจะยังไม่มีมากเท่าที่ควร เนื่องจากติดขัดเรื่องเงินทุนในการซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์  ทีนี้ย้อนกลับมาที่ลักษณะการทำงาน โดยส่วนมาก เค้าก็จะแยกกันระหว่างคน ออกแบบตัวการ์ตูน คนปั้นโมเดล คนใส่วัสดุจัดแสง และคนทำอนิเมชั่นในขั้นตอนทำให้มันเคลื่อนไหว และยังมีคนตัดต่อและใส่เอฟฟเกต์ในขั้นสิ้นสุดด้วย น้องๆจะเห็นว่าหนังอนิเมชั่นไม่ได้ออกมาง่ายๆ หนังเรื่องนึงจะต้องประกอบไปด้วยคนหลายคนหากว่าน้องเป็นคนที่ขอบทำหนังสั้น น้องๆก็ควรจะคำนึงถึงเนื้อเรื่องด้วย เพราะเนื้อเรื่องเป็นตัวสำคัญในการตัดสินว่าหนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ ในที่นี้พี่แนะนำน้องที่อยากจะเป็นอนิเมเตอร์หรือสนใจทางสายงานด้านนี้ให้หาเวลานอกในการฝึกฝนทักษะ และก็ควรจะเรียนรู้กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ที่อาจารย์สอนในมหาลัยไปด้วยพร้อมๆกัน เพราะสังเกตหนังสั้น หรือหังโฆษณาเมือง CANNES (คานส์) หนังที่ได้รางวัลก็มักจะเป็นหนังที่มีแก๊กหรือไอเดียเด็ดๆ และการจะเตรียมตัวเป็นอนิเมเตอร์ พี่ก็แนะนำให้หาความรู้นอกห้องเรียน ซีดีหรือดีวีดีสอน MAYA หรือ 3ds MAX  Lightwave / Cinema4 หรือกระทั้งวิดีโอสอนการตัดต่ออย่าง Final Cut Pro และ After Effects ก็มีเยอะมีค่อนข้างเยอะหาได้ง่ายครับ หรือจะไปเรียนเสริมนอกเวลาก็ได้ และก็ทำเก็บไว้เป็น Port เพื่อสมัครฝึกงานในบริษัทเหล่านี้ในช่วงปีสามครับ ก็จะเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดในการเข้าวงการครับ

             - Illustrator Artist  อาชีพนักวาดภาพ ออกแบบภาพประกอบ หรือเขียนสตอรรี่บอร์ดประกอบงานโฆษณา (Story Board) นักวาดภาพนั้น แน่นอนก็จะต้องเป็นผู้มีทักษะในการวาดรูปค่อนข้างมาก รักการ์ตูน ช่างสังเกต ขี้เล่น สำหรับอาชีพนี้ ปัจจุบั้นก็แยกได้ออกเป็น 2 อย่างคือ ทำงานอิสระ กับทำงานประจำนักวาดภาพที่ประจำในบริษัทโฆษณา เค้าจะต้องมีความสามารถรอบด้าน คือต้องวาดจากคอมพิวเตอร์ก็ได้  และวาดมือลงสีมาร์คเกอร์ (Marker Color)  หรือสีอื่นๆก็ได้ จะต้องเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเป็นผู้ช่วยครีเอทีฟหรือผู้กำกับคิดต่อ คิดออกมาให้เป็นภาพได้ สำหรับหน้าที่การงานก็จะอยู่ในบริษัทโฆษณาหรือโปรดักต์ชั่นเฮาส์ หรือรับงานอิสระ แต่ต้องเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับนึงแล้วในวงการออกแบบภาพประกอบคือจริงๆนักวาดภาพประกอบไม่จำเป็นต้องอยู่บริษัทเหล่านั้น แต่อาจจะรับงานวาดประกอบนิตยสารเป็น JOB พิเศษก็ได้สำหรับการเตรียมตัวจะเป็น แน่นอน ต้องฝึกวาดให้มากครับฝึกมากๆครับ

      ==========================================================================

             สุดท้ายที่จะพูดก็จะเป็นสายงานไฮเทค แน่นอน ต้องอยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวันแน่ๆคนที่จะทำงานทางด้านนี้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่รังเกียจคอมพิวเตอร์ ต้องมีความเชี่ยวชาญและพอรู้เรื่องโปรแกรมมาบ้างเล็กๆน้อยๆ สำหรับสายงานทางด้านนี้ เวลาน้องจะเข้าไปทำก็ควรจะลองๆสืบดูว่า งานหรือบริษัทที่เรากำลังจะไปทำเค้าเน้นทางด้านไหน บางที่เน้นโปรแกรมมิ่ง บางที่เน้นออกแบบ เน้นไอเดีย บางที่เน้นเท่ากัน ก็ลองเลือกดูนะครับว่าเราอยากทำงานที่เน้นไปทางด้านไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราเป็นหลัก

      Multimedia Designer / Web Graphic Designer / Interface Designer

             สามคำข้างบนก็พอจะครอบคลุมได้พอสมควรแล้วนะครับ จริงๆยังมีอีกเยอะ  ลักษณะการทำงานก็แล้วแต่บริษัทที่เราจะไปสมัคร คนที่ออกแบบทางสาย IT นี้จะไม่ค่อยมีผู้ช่วยแบบสายโฆษณา เราจะต้องปิดงานด้วยตัวเองในบางครั้ง อย่างเช่นถ้าเราทำ FLASH เราก็ต้องปิดงานด้วยตัวเอง ไม่มี Artist มาปิดงานให้เราแบบสายงานโฆษณาคนที่จะทำงานสายนี้จะต้องมีความสามารถทั้งเรื่อง ภาพยนตร์ การทำอนิเมชั่น การตัดต่อเสียงและโปรแกรมมิ่งเล็กๆน้อยๆ ปัจจุบั้นเราจะออกแบบชนิด offline ก็ไม่ได้แล้ว จึงจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านอินเตอร์เนต และเทคโนโลยีแฟลชและ JAVA บ้างพอสมควร


      สำหรับน้องที่จะเข้าทำงานทางสายนี้พี่จะแนะนำคร่าวๆนะครับ ว่ามีบริษัทลักษณะไหนบ้าง

            
      - บริษัทที่เป็นเครือหรือแผนกย่อยของบริษัทโฆษณา ในแผนกนี้จะต้องออกแบบทำ web หรีอ media ใหม่ๆ Direct Marketing และจะมีการจัดวางตำแหน่งคล้ายๆ พวกครีเอทีฟ และมีคนช่วยทำงานให้ บริษัทโฆษณาจะให้เงินเดือนปานกลาง แต่จะได้ความรู้ทางด้านมาร์เกตติ้งติดตัวไปด้วย เพราะจะค่อนข้างใกล้ชิดกับพวกมาร์เกตติ้ง

             - บริษัทที่ออกแบบพวกมัลติมีเดียและเวบโดยเฉพาะ บริษัทลักษณะนี้ เราจะต้องมีความสามารถในการออกแบบและความรู้รอบทางด้านโปรแกรมพอสมควรซึ่งเวลาจะเข้าไปทำควจะศึกษาว่าลักษณะงานเน้นไปในทางไหน ออกแบบหรือเน้นโปรแกรม

             - บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทเหล่านี้จะให้เราเข้าไปพัฒนา Graphic User Interface (GUI) หรือที่เค้าเรียกกันว่าหน้าตาของตัวโปรแกรม ซึ่งแน่นนอน เค้าเน้นโปรแกรมอยู่แล้ว

             เวลาน้องๆจะทำงานทางสายนี้ ลองศึกษาดูให้ดีๆก่อนนะครับ เพราะบางทีทำไปนานๆเราจะลืมๆการออกแบบได้ เพราะแวดล้อมไปได้ยโปรแกรมต่างๆ เราจึ้งต้องหมั่นศึกษาหาความรู้บ่อยๆ และฐานเงินเดือนของบริษัทลักษษระนี้มักจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับนักออกแบบเท่าที่ควร แต่ก็มีบางที่เหมือนกันที่ให้ค่อนข้างมาก  สำหรับการเตรียมตัวคงไม่ต้องบอกอะไรมากนะครับ คืองานต้องดี และมีความรู้ทางด้านโปรแกรมหรือ HTML บ้างนิดๆหน่อยๆครับ

      ==========================================================================

             เมื่อได้รู้จักกันแล้วว่า จบไปทำอะไรได้บ้าง และมีหน้าที่การงานทำอะไรบ้างก็จะมาตอบคำภถามคาใจน้องๆว่า "หางานยากหรือไม่" อันนี้พี่ก็จะขอตอบจากประสบการณ์นะครับว่า  อย่างงานโฆษณา แม้ว่าบริษัทโฆษณาที่ดังๆจะมีเยอะก็ตาม แต่บุคคลากรเค้าไม่ค่อยเยอะ โดยเฉพาะครีเอทีฟ หรือกราฟฟิค  เพราะเค้าไม่จำเป็นต้องจ้างเยอะ ครีเอทีฟมีหน้าที่คิดงานให้แหวก คิดให้ใหม่เสมอๆ ดังนั้นเค้าจะไม่จ้างเยอะและค่อนข้างที่จะรับคนยาก อย่างบริษัทที่เคยทำอยู่ บางครั้งมีการสมัครเรื่อยๆ เกือบ 200-300 คน (รับคนเดียว) แต่ก็ไม่รับเสียทีและก็เป็นธรรมดาครับที่บริษัทดังๆจะรับคนยาก  สาขางานอื่นๆก็เหมือนๆกันครับ ดังนั้นนอกจากสอบเข้าไปได้แล้วยังต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาอีกด้วย ถึงจะอยู่ในโลกของการออกแบบได้อย่างมีความสุข

      ==========================================================================

             สำหรับการเตรียมตัว พี่จะขอพูดคร่าวๆละกันนะครับ เอาไว้ไปดูรายละเอียดวิชาสอบกันดีกว่า

                    การเตรียมตัวเข้าสาขาทางนี้ แน่นอนจะต้องมีวิชาการออกแบบและวาดเส้น ซึ่งวิชาและทักษะดังกล่าว ไม่สามารถวัดได้ว่าคนไหนจะต้องฝึกเท่าไหร่ คนไหนต้องฝึกอีกมาก คนไหนทำไม่สวย อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ล้วนๆในการฝึกฝนน้องๆที่จะเข้าสายงานทางนี้ พี่แนะนำเลยว่า website หรือร้านหนังสืออย่าง Asia Book หรือ Kinokuniya เป็นแหล่งความรู้ที่ดีมากๆ ยังมีร้านหนังสือดีๆที่น่าไปดูอีกคือ Basheer ที่ H1 ซอยทองหล่อ เลย Playground เข้าไปอีกหน่อยจริงๆใน Playground ก็มีนะครับ และยิ่งดีเข้าไปอีกที่มีศูนย์การออกแบบที่ Emporium ขึ้นมาอีก แหล่งความรู้เหล่านี้มีอยู่ทั่วไป ขึ้นอยู่ว่าน้องจะเลือกดูหรือเปล่าและสำหรับน้องที่ไม่มีโอกาสได้ติวกับพี่ๆตามมหาวิทยาลัยหรือตามสถาบันสอนศิลปะ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันเค้าเพราะน้องสามารถหาหนังสือหัดวาดเส้นมาหัดได้เอง ซึ่งมีหนังสือดีๆอยู่หลายเล่มเมื่อซื้อมาแล้วน้องก็อาศัยการสังเกต หมั่นฝึกฝน และที่สำคัญหาอาจารย์สอนศิลปะเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูก็จะดีมากๆ จริงๆก็ไม่ต้องกลัวมากเพราะในเวบมีอยู่มากมายครับ  ลองใช้ Google หาดูสิครับ มีเพียบ..........ที่สำคัญหมั่นหาข้อสอบเก่าๆมาดูและทดลองทำดูครับจะช่วยได้มากๆครับ

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

             ระบบการสอบและวิชาการสอบ ซึ่งลักษณะการสอบในปัจจุบันจะสามารถแยกออกเป็น 4 กลุ่มคือ

      [A] กลุ่มที่สอบปฏิบัติเพียงวิชาเดียว (ความถนัดทางนิเทศศิลป์ ค่าน้ำหนัก 35% เกณฑ์ 40 คะแนน) ได้แก่

             - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ / ภาพถ่าย / ภาพยนตร์และวิดีโอ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง(สองสาขาสุดท้ายมีสอบภาคสมทบ)
             - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ พระจอมเกล้าฯธนบุรี (หลักสูตรนานาชาติ) มีสอบตรง
             - คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ ม.ขอนแก่น ม.บูรพา ฯลฯ (มีสอบตรง+โควต้า)

      ลักษณะข้อสอบ
             จะมีข้อย่อยๆแยกออกไปให้ Drawing เขียน StoryBoard ทำ Illustration หรือออกแบบโปสเตอร์และออกแบบลวดลายเน้นทักษะ+ไอเดีย และความเร็วในการทำพอสมควร เพราะมีแค่ 3 ชั่วโมงแต่ต้องทำหลายข้อ

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

      [B] กลุ่มที่สอบวิชาปฏิบัติสองวิชา รายละเอียดลองดูที่ http://www.decorate.su.ac.th/
             คณะมัณฑนศิลป์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ ศิลปากร มีสอบตรงเท่านั้น มี 2 รอบ เน้นทักษะมากๆต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมาก แบ่งเป็นสองวิชาคือ วาดเส้นมัณฑนศิลป์ และออกแบบนิเทศศิลป์

      ลักษณะข้อสอบ
             วาดเส้นมัณฑนศิลป์ ให้วาดเส้นหน้าคน หรือมือ หรือของใกล้ตัว บางปีเคยออกให้วาดจากรูปภาพ เน้นทักษะมากๆ
      ออกแบบนิเทศศิลป์ ให้ออกแบบโปสเตอร์ และโลโก้ หรือออกแบบตัวอักษรประกอบโปสเตอร์ ฯลฯ เน้นทักษะการออกแบบและนำเสนองานมากๆเกณฑ์อยู่ที่ 50 คะแนนครับ สำหรับ ระดับคะแนนที่ปลอดภัยในการสอบติดคือ 80-85 ขึ้นไปครับ (ได้ค่อนข้างยากครับ โดยเฉพาะ Drawing)

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

      [C] กลุ่มที่สอบวิชาปฏิบัติ 1 วิชา และสอบทฤษฎีศิลปะ 1 วิชา
             คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ จุฬาฯ (มีสอบตรง+โควต้า) ใช้ปฏิบัติ + ทฤษฎีนฤมิตศิลป์
             คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ มหาสารคาม (มีสอบตรง+โควต้า) ใช้ ปฏิบัติ + ทฤษฎีนฤมิตศิลป์
             คณะสถาปัตย์ออกแบบ บรรจุภัณฑ์ ม.นเรศวร ใช้ ปฏิบัติ + ทฤษฎีนฤมิตศิลป์
             คณะวิจิตรศิลป์ สาขาการออกแบบ ม.เชียงใหม่ (มีสอบตรง+โควต้า) ใช้ปฏิบัติ + ทฤษฎีนฤมิตศิลป์
             คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อสาร มศว ประสานมิตร (สอบตรงอย่างเดียว ใช้ ปฏิบัติ + ทฤษฎี และ PORTFOLIO)  รายละเอียด www.swu.ac.th

      ลักษณะข้อสอบ
             ปฏิบัตินฤมิตศิลป์ (ค่าน้ำหนัก 20%) 3 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น วาดเส้นสร้างสรรค์ เน้นหน้าคน และมือ หรือของอื่นๆ
      โดยโจทย์จะเป็นลักษณะใกล้เคียงกับโจทย์ของลูกค้าที่ให้ทำในบริษัทโฆษณา โดยสามารถวาดลักษณะ Surrealism ได้ตามต้องการ แต่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องของแสงเงา และอีกส่วนนึงคือออกแบบ เน้นโจทย์ที่สื่อสารถึงอารมณ์
      และเน้นการออกแบบลวดลาย หรือบางครั้งก็มีทั้งโปสเตอร์และภาพประกอบ คล้ายๆลาดกระบังทฤษฎีนฤมิตศิลป์  (ค่าน้ำหนัก 15%) มีเนื้อหาที่ต้องอ่านคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งไทยและตะวันตกประวัติศาสตร์การออกแบบ ทฤษฎีการออกแบบ และความรู้ทั้วไปทางแฟชั่น กราฟฟิค โฆษณา คอมพิวเตอร์กราฟฟิคงานนิทรรศการ งานออกแบบภายในและงานออกแบบเซรามิกส์ สามารถหาอ่านเอาได้แต่หลายๆเล่ม เช่นเอาความถนัดสถาปัตย์ + ประวัติศาสตร์ศิลป์  ส่วนแนวข้อสอบตรงของ มศว จะเปลี่ยนไปทุกๆปี เน้นการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องมี PORTFOLIO ด้วย ส่วนทฤษฎีศิลปะเน้นคอมพิวเตอร์กราฟฟิคและอนิเมชั่นด้วยนอกเหนือจากประวัติศาสตร์ศิลป์เล็กๆน้อยๆ

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

      [D] กลุ่มที่มีวิชาปฏิบัติและทฤษฎีอยู่ในข้อสอบเดียวกัน
             คณะครุศาสตร์ ศิลปะศึกษา จุฬาฯ คือเรียนไปไม่ได้ต้องเป็นครูอย่างเดียวนะครับ ทำงานออกแบบก็ได้ครับไม่ปัญหา จะต่างกับพวกที่เรียนศิลปกรรมก็แค่มีวิชาครูและต้องฝึกสอน และใช้เวลาเรียน 5 ปี ใช้วิชาสอบคือ ความรู้ความถนัดทางศิลป์ ค่าน้ำหนัก 10% รวมกับวิชาความถนัดทางวิชาชีพครูและวิชาเลือกสอบ ANET รวมเป็น 30%

      ลักษณะข้อสอบ
             แบ่งเป็นทฤษฎี 40-50 ข้อ มีเนื้อหาที่ต้องอ่านคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งไทยและตะวันตกประวัติศาสตร์การออกแบบ ทฤษฎีการออกแบบ และความรู้ทั้วไปทางแฟชั่น กราฟฟิค โฆษณา คอมพิวเตอร์กราฟฟิค งานนิทรรศการ งานออกแบบภายในและงานออกแบบเซรามิกส์ สามารถหาอ่านเอาได้แต่หลายๆเล่ม เช่นเอาความถนัดสถาปัตย์ + ประวัติศาสตร์ศิลป์
      แต่เน้นของไทย และชอบออกรูปภาพของพระพุทธรูปและเจดีย์และของไทยๆ ตลอดจนรูปของศิลปินดังๆ และมีความรู้ทางจิตรกรรมและความรู้รอบตัวอย่างเช่นศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรมด้วย  ส่วนปฏิบัติจะให้ทำบนกระดาษแผ่นเล็กๆมีตั้งแต่วาดเส้น ออกแบบ sketch design หรือออกแบบโปสเตอร์ โลโก้ ฯลฯ

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

             จากที่ได้ดูมาข้างต้นนั้น พี่ก็อยากจะบอกว่าน้องๆควรเลือกคณะเผื่อๆไว้ด้วย ไม่ควรเลือกคณะเดียวเพราะอุบัติเหตุในการสอบมีตลอดเวลา เช่นสีหก ไอเดียไม่ออก ทำไม่ได้ ตื่นเต้น ทำผิดโจทย์ ท้องเสียวันสอบเก็งผิดโจทย์ ออกในสิ่งที่ไม่ถนัดปวดหัวปวดท้องวันสอบ ดังนั้นควรจะเตรียมตัวเอาไว้เผื่อๆดูคณะอื่นที่อื่นไว้บ้าง  นี่แหละคณะที่พี่บอกไปข้างบน อันไหนเค้ามีสอบตรงอันไหนเค้าสอบไม่ตรงกัน แนะนำให้สอบๆไปให้หมดเลยครับ

             นอกเหนือจากการสอบแอดมิดชั่นแล้วยังมีการสอบโคงต้าพิเศษ สอบตรงพิเศษ สอบภาคสมทบ เหล่านี้ น้องๆต้อ
      คอยติดตามจากเวบไซท์ของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นเอง หรือในเวบเด็กดีนี่แหละครับ จะไปหวังให้ครูแนะแนวคอยเอา
      ข่าวมาให้เรามันก็ไม่ไหวครับ เพราะบางทีครูก็งานเยอะครับ และอีกอย่าง คณะเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่นิยมในการ
      สอบเข้ามากเท่าพวกสายวิศวะ

      //////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

             จริงๆ ข้อมูลที่พี่รวบรวมมาให้ข้างต้นก็แค่สำหรับน้องๆที่อยากจะทำงานทางสายนิเทศศิลป์แค่นั้น ส่วนน้องที่สนใจทางด้านอื่นๆ ก็คอยพี่ๆเค้าอัพเดทกันต่อไปครับ หรือถ้าพี่มีเวลาพอก็จะรวบรวมมาให้อีก จากข้างต้น ก็หวังว่าพอจะ
      ให้ความกระจ่างบ้างนะครับไม่มากก็น้อย ซึ่งข้อมูลบางอย่างน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกในการสอบครั้งหน้า  สุดท้ายนี้ พี่ก็ขอฝากให้น้องๆ ม.4-5 ได้รีบทำความรู้จักกับสาขาเหล่านี้ว่า แท้จริงแล้วเราต้องการจะเรียนหรือไม่ชอบหรือไม่ จะได้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะต้องอาศัยระยะเวลาการฝึกฝนค่อนข้างมาก ส่วนรายละเอียดอื่นๆถ้ามีอะไรอัพเดท แก้ไข พี่จะพยายามหามาให้ครับ

      นิเทศศาสตร์

      ข้อมูลจากเว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      http://www.academic.chula.ac.th/thaiver/Entrance/Communication.htm

      คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      นิเทศศาสตร์คืออะไร
      นิเทศศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยศิลปะของการสื่อสารทุกประเภท ทุกระดับ โดยทางใดก็ตามไปยังบุคคลหรือมวลชน ด้วยการใช้เทคนิควิชาการที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลอย่างเต็มที่
      หลักสูตร
      คณะนิเทศศาสตร์ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี จำนวน 1 หลักสูตร คือ
      - หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต มี 7 สาขาวิชา ได้แก่

      1. สาขาวิชาวารสารสนเทศ ศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับวิทยาการ และเทคโนโลยีข่าวสาร เช่น การสื่อข่าวเขียนข่าว การ สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายอินเตอร์เนต การรายงานข่าวผ่านสื่อพิมพ์ และสื่อคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการออกแบบ และการนำเสนอผ่านสื่อพิมพ์อื่น ๆ เช่น นิตยสาร แผ่นปลิว โปสเตอร์
      2. สาขาวิชาการกระจายเสียง ศึกษาทฤษฎี แนวคิด กระบวนการของการส่งข่าวสารหรือสื่อความหมายต่าง ๆ โดยทางสื่อกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ นิสิตจะต้องเรียนรู้ทฤษฎีและแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับสื่อกระจายเสียง และนำทฤษฎีและแนวคิดเหล่านั้นไปประยุกต์กับการปฏิบัติในด้านการผลิตรายการ การวางแผนรายการ และการประเมินผลการใช้สื่อ
      3. สาขาวิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ และการสื่อความหมายของภาพนิ่ง และภาพยนตร์ รวมทั้งอิทธิพลและบทบาทของสื่อทั้ง 2 ประเภท ที่มีต่อสังคม
      4. สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ เน้นหนักเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจอันดี ป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง ส่งเสริมและรักษาภาพลักษณ์ของสถาบัน การจัดการกับภาวะวิกฤต การหยั่งเสียงประชามติ ประชาพิจารณ์ ตลอดจน การสร้างสรรค์และโน้มน้าวทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน
      5. สาขาวิชาการโฆษณา ศึกษาการทำงานด้านโฆษณาต่าง ๆ ตั้งแต่การสร้างสรรค์ และการผลิตสื่อโฆษณา การ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค การเขียนบทการวางแผน และการรณรงค์เพื่อการโฆษณา ตลอดจนศึกษาถึงบทบาทของการโฆษณาใน การตลาด
      6. สาขาวิชาวาทวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับหลักการและวิธีปฏิบัติการพูดที่สัมฤทธิผล การพูดประเภทต่างๆ เช่นการเจรจาต่อรอง การพูดเพื่อธุรกิจ การพูดหน้าที่ชุมชน การเป็นผู้ประกาศและพิธีกร การสื่อสารประเภทต่างๆ การวิจารณ์สื่อสารการแสดง
      7. สาขาวิชาสื่อสารการแสดง ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะการแสดง โดยมีความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารของมนุษย์เป็นพื้นฐาน เน้นการสร้างสรรค์ การแสดงผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ซึ่งนอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในองค์ ประกอบของการแสดงแล้วยังต้องศึกษาเทคนิคของสื่อต่าง ๆ ด้วย
      โครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี
      หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วยหมวดวิชาต่าง ๆ ดังนี้
      1.หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และสหศาสตร์
      2.หมวดวิชาชีพพื้นฐาน เป็นวิชาด้านหลักทฤษฎี และแผนปฏิบัติพื้นฐานของวิชาการนิเทศศาสตร์ หมวดวิชานี้ ประกอบด้วยรายวิชาต่าง ๆ คือ การสื่อสารมวนชนเบื้องต้น นิเทศศาสตร์เบื้องต้น ภาพถ่ายเบื้องต้นการสื่อข่าวและเขียนข่าวเบื้อง ต้น การประชาสัมพันธ์เบื้องต้น การโฆษณาเบื้องต้น หลักและการปฏิบัติทางวาทนิเทศ และภาษาเพื่อการสื่อสาร
      3. หมวดวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา ประกอบด้วย
      3.1 วิชาเอก นิสิตเลือกเรียน เน้นหนักสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งใน 7 สาขาวิชาตามความถนัด
      3.2 วิชาเสริม นิสิตเลือกเรียนรายวิชาต่าง ๆ ได้ทั่วไป โดยความเห็นชอบของอาจารย์ที่ปรึกษา
      4. หมวดวิชาเลือกเสรี เป็นวิชาที่นิสิตสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ โดยความเห็นชอบของอาจารย์ที่ปรึกษา
      คุณสมบัติเฉพาะ
      1. มีความรู้ด้านภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างดี
      2. รักการอ่าน การเขียน มีความรู้กว้างขวาง และสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง และมีความสามารถในการถ่ายทอด
      3. มีความสนใจทางด้านศิลปะการสื่อความหมายประเภทต่าง ๆ
      4. มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลาอยู่เสมอ
      บัณฑิต
      ผู้สำเร็จหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตจะต้องได้หน่วยกิตสะสมไม่ต่ำกว่า 136-145 หน่วยกิต โดยใช้เวลาในการศึกษา ตามปกติ 4 ปี เมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒินิเทศศาสตรบัณฑิต” (นศ.บ.)
      การประกอบอาชีพ
      นิสิตที่จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์สามารถทำงานในสาขาวิชาชีพโดยตรง และสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ตามสำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ นิตยสาร รัฐวิสาหกิจ และหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เน้นหนักในด้านการผลิตเอกสาร ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ นักผลิตภาพยนตร์ นักประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ สมาคมต่าง ๆ เป็นผู้วางแผนการใช้สื่อ และเป็นนักการโฆษณาในส่วนของสายงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพที่จะต้องใช้การพูด การสื่อสารเป็นปัจจัยหลัก เช่น นักบริหาร นักวิชาการ ครู อาจารย์ นักการพูด นักธุรกิจ นักการเมือง และนักการปกครอง

      หมายเหตุ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เปิดสาขาคล้ายกัน แต่บางสาขา บางที่ก็ไม่เปิด ลองเข้าเว็บไซต์ ใช้google แล้วเช็คดู
      ได้ พิมพ์คำว่า นิเทศศาสตร์ แล้วลองหาดูได้

      ข้อมูลนี้ตัดตอนจากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้านี้ ให้พอเห็นภาพ ว่ามีสาขาใดบ้างที่สนใจจะเรียน
      http://jc.tu.ac.th/index.html

      คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนแบ่งการศึกษาออกเป็น 6 สาขาวิชา ดังนี้
      1. สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ Newspaper and Print Media
      2. สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ Radio and Television Broadcasting
      3. สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย Cinematography
      4. สาขาวิชาโฆษณา Advertising
      5. สาขาวิชาประชาสัมพันธ์ Public Relations
      6. สาขาวิชาบริหารการสื่อสาร Communication Management

      เพื่อให้การศึกษาและวิจัยทางวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณา และการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการบริหารการสื่อสารแก่นักศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญสามารถวินิจฉัยและตัดสินปัญหาของสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะไปใช้ในการประกอบวิชาชีพวารสารศาสตร์ มีจริยธรรมและสำนึกต่อสังคม มีความรู้และทักษะในวิชาชีพ

      คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมีอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการครบสมบูรณ์ เช่น สถานีวิทยุ A.M. สเตอริโอ ความถี่ 981 กิโลเฮิตซ์ กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ส่งกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 15.00-21.00 น เว้นวันเสาร์และอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีห้องตัดต่อ ห้องบันทึกเทป ห้องออกอากาศ และห้องปฏิบัติการโทรทัศน์ ห้องถ่ายภาพยนตร์และห้องปฏิบัติการถ่ายภาพ ห้องปฏิบัติการภาพพิมพ์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการหนังสือพิมพ์ โดยออกหนังสือพิมพ์ "มหาวิทยาลัย" ออกเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์และจัดทำนิตยสาร "ยูงทอง" ออกเป็นรายภาคการศึกษา ทำให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้และฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพอย่างสมบูรณ์

       

      ข้อมูลนี้ขออนุญาตตัดตอนจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยกรุงเทพค่ะ
      http://www.bu.ac.th/th/academic/undergrad/contens/comart.php
      Bachelor of Arts (Communication Arts)
      B.A. (Communication Arts)

      ในโลกยุคสังคมข่าวสารความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การติดต่อสื่อสารในโลกสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น บทบาทของนักนิเทศศาสตร์ในฐานะผู้สื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นกลไกหลักให้การดำเนินงานขององค์กรหรือบุคคลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และอยู่บนพื้นฐานความพอใจของกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร

      คณะนิเทศศาสตร์มุ่งหวังที่จะผลิตนักนิเทศศาสตร์ยุคใหม่ที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ มีความสามารถในการวิจัย การวางแผน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีศิลปะและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลก
      คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดสอน 9 สาขาวิชาใน 5 ภาควิชาได้แก่
      : ภาควิชาการประชาสัมพันธ์*
      สาขาการประชาสัมพันธ์
      : ภาควิชาวารสารศาสตร์
      สาขาวารสารศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์
      สาขาวารสารศาสตร์สิ่งพิมพ์
      : ภาควิชาการโฆษณา
      สาขาการสร้างสรรค์งานโฆษณา
      สาขาการจัดการโฆษณา
      : ภาควิชาศิลปะการแสดง
      สาขาการแสดงและการกำกับการแสดง
      สาขาการเขียนบท
      : ภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนต์
      สาขาวิทยุกระจายเสียง/วิทยุโทรทัศน์
      สาขาภาพยนต์
      สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์


      ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของสังคมใหม่ท้าทาย คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การประชาสัมพันธ์เป็น วิชาชีพที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นในวงการ ธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ รัฐบาล วงการบันเทิง หรือแม้แต่แวดวงการเมือง ต่างก็แข็งขันกันนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ในเชิงการประชาสัมพันธ์มาใช้เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ทั้งสิ้น
      ภาควิชาการประชาสัมพันธ์มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีที่จำเป็นต่อการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในโลกปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ฝึกฝนทักษะการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ฝึกการ วิเคราะห์ การวางแผน การใช้เครื่องมือสื่อสารประชาสัมพันธ์สมัยใหม่ การสร้างสรรค์กิจกรรมพิเศษในโอกาสต่าง ๆ เพื่อบัณฑิตจะได้เป็น นักประชาสัมพันธ์ที่เพียบพร้อมโดยมีทฤษฎีเป็นเข็มทิศนำทางในการคิด วิเคราะห์ประกอบกับมีทักษะการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพสังคม โอกาสในการประกอบอาชีพ
      ด้วยบทบาทสำคัญของนักประชาสัมพันธ์ ผู้สำเร็จการศึกษา จากสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์จึงสามารถประกอบอาชีพในองค์กร ต่าง ๆ ในตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ นักวางแผนการประชาสัมพันธ์ นักวิจัยภาพลักษณ์ นักสื่อสารการตลาด นักส่งเสริมการตลาด ผู้บริหารงานฝ่ายบริการลูกค้า แม้กระทั่งเป็น Image Maker ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ตลอดจนเป็นผู้บริหารระดับสูงทางด้านการประชาสัมพันธ์และที่ปรึกษาทางด้านการประชาสัมพันธ์ให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ
      สาขาวิชาวารสารศาสตร์


      ในยุคของความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี สาขาวิชาวารสารศาสตร์จะมุ่งเน้นให้การศึกษาในด้านวิชาชีพทางวารสารศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างทักษะในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากบุคคล และสิ่งพิมพ์ต่างๆ อันเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐาน ตลอดจนการรู้จักค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากสื่อทันสมัยอย่างอินเตอร์เน็ตตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วนำมาประเมินคุณค่าทางข่าวเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่าน อย่างมีประโยชน์และสร้างสรรค์
      นอกจากนี้ทางสาขาวิชายังมุ่งเน้นให้นักศึกษาเกิดความรู้

      ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเปิดโอกาสให้เลือกฝึกจัดทำหนังสือพิมพ์และนิตยสารในแบบของสิ่งพิมพ์ หรือแบบออนไลน์อันเป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในปัจจุบัน รวมทั้งยังสามารถ นำความรู้ทางด้านวารสารศาสตร์ไปใช้ในการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อีกด้วย โอกาสในการประกอบอาชีพ
      ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาวารสารศาสตร์เป็นผู้ที่มีความชำนาญในด้านสายงานข่าว และทักษะทางด้านงานเขียนจึงมักจะเข้าไปทำงานในตำแหน่งของผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ นักเขียน คอลัมนิสต์ นักพิสูจน์อักษร จาก คุณสมบัติและความเชี่ยวชาญต่างๆ บัณฑิตของสาขาวิชาวารสารศาสตร์จึงก้าวออกไปเป็นนักวิชาชีพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และความสามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วไม่ว่ากับสื่อประเภทใดก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับยุคที่ทันสมัยของสังคมปัจจุบัน
      สาขาวิชาการโฆษณา


      โฆษณาเป็นเครื่องมือในการแจ้งข่าวสาร สร้างภาพลักษณ์และสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตราสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างยอดขายและผลกำไรให้ธุรกิจ เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนและการสร้างงานอันเป็นผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน
      ภายใต้หลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเน้นหนักด้านการสร้างสรรค์ หรือด้านการจัดการ รวมถึงกิจกรรมวิชาการประจำปี อาทิ งานนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 (MADD Awards) โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Creative Workshop และ Client Service Workshop สาขาวิชาโฆษณาจึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการวิเคราะห์ วิจัย วางแผน บริหาร สร้างสรรค์และผลิตผลงานโฆษณาอันทรงประสิทธิภาพภายใต้กรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา โอกาสในการประกอบอาชีพ
      ด้วยหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาของสาขาวิชาการโฆษณาได้ฝึกฝนและสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ประกอบด้วยความรอบรู้ทางด้านทฤษฎีและหลักปฏิบัติ บัณฑิตของสาขาวิชาการโฆษณาจึงสามารถประกอบอาชีพเป็น นักสร้างสรรค์งานโฆษณา (Creative) ผู้กำกับศิลป์ ผู้เขียนบทโฆษณา ผู้บริหารงานฝ่ายบริการลูกค้า ผู้วางแผนกลยุทธ์ ผู้วางแผนการผลิตสื่อโฆษณา ผู้ออกแบบเว็บเพจ และสาขา วิชาชีพใกล้เคียง เช่น ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณา ผู้ผลิตรายการ ช่างภาพ นักวิจัย นักการตลาด เป็นต้น
      สาขาวิชาศิลปะการแสดง


      มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่บุกเบิกการเรียนการสอนด้านศิลปะการแสดงในระดับปริญญาตรี เอกลักษณ์สำคัญของสาขาวิชาศิลปะการแสดงคือการเรียนที่เน้นทักษะปฏิบัติของนักศึกษาผสมผสานทฤษฎีและสุนทรีย์ มุ่งสร้างบุคลากร ที่รอบรู้และเชี่ยวชาญในสายงานการแสดงด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลัง สำคัญของวงการศิลปะบันเทิง เนื้อหาและวิธีการสอนในแต่ละวิชาได้รับการพัฒนาเพื่อให้นักศึกษาได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการจัดการเรียนการสอนและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ อีกทั้งยังจัดให้มีโครงการการแสดงต่าง ๆ เพื่อเสริมหลักสูตร โดยมีศิลปินรับเชิญทั้งในและต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์และกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่ โอกาสในการประกอบอาชีพ
      บัณฑิตสาขาวิชาศิลปะการแสดงเป็นผู้มีประสบการณ์ในด้าน วิชาชีพการแสดง จึงพร้อมที่จะก้าวไปสู่วงการบันเทิงอย่างมืออาชีพในหน้าที่นักแสดง ผู้กำกับการแสดง ผู้ฝึกสอนการแสดง ผู้เขียนบทละคร และผู้ออกแบบฝ่ายต่าง ๆ โดยตระหนักถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณของงานด้านการแสดง บัณฑิตของสาขาวิชาศิลปะการแสดงจำนวนมากได้ผลิตผลงานที่ดีสู่สาธารณชนจนได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย
      สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์


      วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ จัดเป็นสื่อที่ให้ความรู้และความบันเทิงแก่สาธารณชนมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในอนาคตสื่อเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น สื่อคอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย และกราฟิกพิเศษเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตรายการอันจะทำให้รายการนั้นมีความน่าสนใจและให้ประโยชน์แก่ผู้รับสารได้มากขึ้น
      สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ มีหลักสูตรที่เตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้ผลิตรายการในยุคของการพัฒนาสื่อด้วยความรู้ภาคทฤษฎีและประสบการณ์ภาคปฏิบัติอย่างครบถ้วน นักศึกษามีโอกาสฝึกนำทฤษฎีไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตรายการ เช่น รายการข่าว รายการสารคดี รายการละคร ภาพยนตร์ และรายการบันเทิงอื่น ๆ โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนสทั้งยังเป็นผู้มีความรู้เท่าทันเหตุการณ์และสภาวะความเคลื่อนไหวในโลกซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของนักสื่อสารมวลชนที่ดี โอกาสในการประกอบอาชีพ
      ปัจจุบันมีบัณฑิตจากสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ มากมายที่ประสบความสำเร็จทางวิชาชีพ ผู้กำกับรายการ นักจัดรายการ ผู้เขียนบทละครและบทโทรทัศน์ ผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว ผู้ผลิตรายการ และสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

      ข้อมูลนิเทศศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราชค่ะ
      ขออนุญาตตัดตอนมา

      น่าสนใจที่เน้น ไอที อาจารย์มีคุณภาพ กระบวนการเรียนการสอนเป็น 3 ภาคเรียน และมีระบบสหกิจศึกษา (ให้นักศึกษาฝึกงานที่สถานประกอบการ เหมือนเป็นพนักงานจริง) ระบบสหกิจ
      ที่นี่ดีมากค่ะ อยากให้ลองเข้ามาชมนะคะ

      http://webhost.wu.ac.th/informatics/Course.asp?id=MC
      ชื่อหลักสูตร : หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์
      Bachelor of Information Science (Communication)

      ชื่อปริญญา : ภาษาไทย
      ชื่อเต็ม : สารสนเทศศาสตรบัณฑิต (นิเทศศาสตร์)
      ชื่อย่อ : สส.บ. (นิเทศศาสตร์)
      ภาษาอังกฤษ
      ชื่อเต็ม : Bachelor of Information Science (Communication)
      ชื่อย่อ : B.I.S. (Communication)

      ลักษณะการเรียน
      มุ่งเน้น ให้ผู้เรียนเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่ทันสมัยในยุคโลกาภิวัตน์ มีความรอบรู้ในวิธีการสื่อสารรูปแบบ ต่าง ๆ การเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การผลิตงานด้านการสื่อสารมวลชน และสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความรู้ความบันเทิงได้อย่างมีประสิทธิภาพตามปรัชญาของนักการสื่อสารมวลชนที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยอาศัยเทคโนโลยีและวิธีการสื่อสารที่ทันสมัย
      ผู้เรียน สนใจติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสังคมและทันต่อเหตุการณ์ สนใจการค้นคว้า เสาะหาข้อมูลและข้อเท็จจริง มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกมีเหตุผล มีมนุษยสัมพันธ์ที่ด
      แนวทางการประกอบอาชีพ

      สามารถประกอบอาชีพทางด้านการสื่อสารมวลชน ได้แก่ งานด้านข่าวสาร งานด้านการจัดและผลิต รายการวิทยุโทรทัศน์ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ งานด้านหนังสือพิมพ์ ผลิตงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ การใช้คอมพิวเตอร์ในงานนิเทศศาสตร์

      ข้อมูลนี้ขออนุญาตดึงมาจาก
      http://www.utcc.ac.th/amsar/about/document10.html

      ASEAN Mass Communication Study
      And Research Center


      การเรียนการสอนทางนิเทศศาสตร์ของไทย

      โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์
      คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

      การเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ในประเทศไทยมีประวัติยาวนานกว่า 40 ปี และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิชาเอกอยู่ 4 สาขาวิชาคือ
      โฆษณา ประชาสัมพันธ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และวารสารศาสตร์ จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์มีมากขึ้นทุกปี ทั้งในระดับบัณฑิตศึกษาและมหาบัณฑิต ในระดับมหาบัณฑิตสาขาที่กำลังเป็นที่นิยมและเหมากับยุคสมัยได้แก่ การสื่อสารธุรกิจ และนิเทศศาสตร์การตลาด

      หลักสูตรนิเทศศาสตร์ในระดับปริญญาตรีในแต่ละมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องจำนวนของหน่วยกิต แต่มีความแตกต่างกันด้านการจัดการไปตามหมวดวิชาและวิชาพื้นฐาน

      ขอบเขตของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ครอบคลุมถึงความรู้ทั่วไป และประเด็นรอบตัวที่สำคัญ เนื่องจากสื่อสารมวลชนมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้รับสารจำนวนมาก หลักสูตรนิเทศศาสตร์จึงต้องศึกษาทั้งในเรื่องรอบๆ ตัว และเนื้อหาวิชาต่างๆ ในเชิงลึก แทนที่จะศึกษาเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

      สถาบันการศึกษา
      ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่ดำเนินการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ มีอยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน คือ


      1. มหาวิทยาลัยของรัฐ มีการเปิดสอนทางด้านการสื่อสารมวลชนโดยตรง โดยการเปิดคณะวิชาทางด้านนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ได้แก่

      (1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chula.ac.th
      (2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://www.tu.ac.th
      (3) มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://www.ru.ac.th
      (4) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.cmu.ac.th
      (5) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.ku.ac.th
      (6) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช http://www.stou.ac.th
      (7) มหาวิทยาลัยบูรพา http://www.buu.ac.th
      (8) มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.nu.ac.th

      2. มหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเพียงแห่งเดียวที่จัดอยู่ในสถาบันการศึกษาประเภทนี้ โดยมีการเปิดสอนในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ

      3. มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเน้นไปในด้านนิเทศศาสตร์ธุรกิจหรือนิเทศศาสตร์การตลาด ได้แก่

      (1) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ http://www.bu.ac.th
      (2) มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต http://www.kbu.ac.th
      (3) มหาวิทยาลัยคริสเตียน http://www.christian.ac.th
      (4) วิทยาลัยทองสุข
      (5) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ http://www.dpu.ac.th
      (6) มหาวิทยาลัยนอร์ท อีสเทิร์น
      (7) มหาวิทยาลัยรังสิต http://www.rsu.ac.th
      (8) มหาวิทยาลัยศรีปทุม http://www.spu.ac.th
      (9) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย http://www.utcc.ac.th
      (10) มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย http://www.eau.ac.th
      (11) มหาวิทยาลัยเกริก http://www.krirk.ac.th
      (12) มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น http://www.stjohn.ac.th
      (13) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร http://www.mut.ac.th
      (14) มหาวิทยาลัยพายัพ http://www.payap.ac.th
      (15) มหาวิทยาลัยโยนก http://www.yonok.ac.th
      (16) มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล http://www.vu.ac.th
      (17) มหาวิทยาลัยสยาม http://www.siamu.ac.th
      (18) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ http://www.au.ac.th

      4. สถาบันการศึกษาซึ่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาในชนบทและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน สถาบันการศึกษาในกลุ่มนี้ คือ สถาบันราชภัฏ 22 แห่ง (แยกจากที่มีอยู่ 36 แห่งทั่วประเทศ)

      (1) สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ http://www.cmri.ac.th
      (2) สถาบันราชภัฏนครสวรรค์ http://www.rink.ac.th
      (3) สถาบันราชภัฏอุดรธานี http://www.riudon.ac.th
      (4) สถาบันราชภัฏนครราชสีมา http://www.rin.ac.th
      (5) สถาบันราชภัฏเทพสตรี http://www.rits.ac.th
      (6) สถาบันราชภัฏราชนครินทร์ http://www.rirc.ac.th
      (7) สถาบันราชภัฏเพชรบุรี http://www.rajabhat.edu
      (8) สถาบันราชภัฏนครปฐม http://www.rinp.ac.th
      (9) สถาบันราชภัฏยะลา http://www.riy.ac.th
      (10) สถาบันราชภัฏพระนคร http://www.ripn.ac.th
      (11) สถาบันราชภัฏจันทรเกษม http://www.chandra.ac.th
      (12) สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ http://www.riu.ac.th
      (13) สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ http://www.ripb.ac.th
      (14) สถาบันราชภัฏมหาสารคาม http://www.rimhk.ac.th
      (15) สถาบันราชภัฏอยุธยา http://www.ripa.ac.th
      (16) สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ http://www.ripw.ac.th
      (17) สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี http://www.rb.ac.th
      (18) สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง http://www.rimc.ac.th
      (19) สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี http://www.risurat.ac.th
      (20) สถาบันราชภัฏสงขลา http://www.riska.ac.th
      (21) สถาบันราชภัฏสวนดุสิต http://www.dusit.ac.th
      (22) สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา http://www.riss.ac.th

      สาขาวิชาทางนิเทศศาสตร์

      ปัจจุบัน การเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ มีอยู่ 10 สาขาวิชาด้วยกัน คือ


      1. การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเปิดสอนในหลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิตทุกสถาบัน ยกเว้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

      2. การหนังสือพิมพ์และวารสารศาสตร์ เปิดสอนในสถาบันการศึกษา 13 แห่งด้วยกัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล และมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนอีก 5 สถาบันซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมด ได้ดำเนินการเปิดสอนในสาขาวิชาวารสารศาสตร์โดยตรง คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถาบันราชภัฏซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

      3. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เปิดสอนอยู่ 11 สถาบันด้วยกัน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเอกชน 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมทั้งสถาบันราชภัฏด้วย

      4. การถ่ายและฉายภาพยนตร์ การภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เปิดสอนโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันราชภัฏ

      5. การสื่อสารมวลชน เปิดสอนโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

      6. การจัดการสารสนเทศ เปิดสอนโดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

      7. นิเทศศาสตร์ธุรกิจ การจัดการการสื่อสาร และการสื่อสารการตลาด เปิดสอนโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัยธุรกิจธุรกิจบัณฑิตย์

      8. การละคร เปิดสอนโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์

      9. วาทนิเทศ เปิดสอนโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      10. ทัศนศาสตร์ เปิดสอนโดย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

      โดยสรุป สามารถจำแนกจำนวนสถาบันตามสาขาวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ ได้ดังนี้

      1. การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ มีการเปิดสอนอยู่ 22 แห่ง
      2. การหนังสือพิมพ์และวารสารศาสตร์ มีการเปิดสอนอยู่ 13 แห่ง
      3. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีการเปิดสอนอยู่ 11 แห่ง
      4. การสื่อสารมวลชน มีการเปิดสอนอยู่ 7 แห่ง
      5. การภาพยนตร์ การถ่ายภาพ วีดีทัศน์ มีการเปิดสอนอยู่ 6 แห่ง
      6. การจัดการสารสนเทศ มีการเปิดสอนอยู่ 3 แห่ง
      7. นิเทศศาสตร์ธุรกิจ การจัดการการสื่อสาร มีการเปิดสอนอยู่ 3 แห่ง
      8. การละคร มีการเปิดสอนอยู่ 2 แห่ง
      9. วาทนิเทศ มีการเปิดสอนอยู่ 1 แห่ง
      10. ทัศนศาสตร์ มีการเปิดสอนอยู่ 1 แห่ง


      จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่าสาขาวิชาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เป็นที่นิยม มากที่สุดและมีการขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการเปิดสอนในระดับปริญญาทางนิเทศศาสตร์เกือบทุกสถาบัน อันดับที่สอง สาม และสี่ คือ สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์และวารสารศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และการสื่อสารมวลชน

      *** ถ้าใครตั้งใจอ่านถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าสนใจจะเรียนนิเทศศาสตร์จริงๆ ลองหาต่อไปอีกนิดนะคะ ว่าอยู่ที่มหาวิทยาลัยใด***

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×